การนมัสการในครอบครัว

การที่ครอบครัวมารวมตัวกันและร่วมปีติยินดีในความประเสริฐของพระเจ้าร่วมกันเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี การนมัสการในครอบครัวเป็นของขวัญจากพระเจ้าที่มอบให้แก่ครอบครัว นักเขียนคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “การนมัสการในครอบครัวไม่ใช่สิ่งที่เราต้องทำ…แต่เป็นเช่นเดียวกับวินัยฝ่ายวิญญาณรูปแบบอื่นๆ ที่กลายมาเป็นสิ่งที่เราอยากทำ คริสเตียนแต่ละคนได้รับการเปลี่ยนแปลงชีวิตโดยพระคุณพระเจ้า เริ่มอ่านพระคัมภีร์ ร้องเพลง และอธิษฐานจนกลายเป็นเรื่องปกติ การนมัสการในครอบครัวเป็นผลมาจากพระคุณของพระเจ้าที่สมาชิกต้องการมารวมตัวกันอ่านพระคัมภีร์ ร้องเพลง และอธิษฐาน”

จะนมัสการในครอบครัวอย่างไร 

ให้ทําอย่างเรียบง่ายและจริงใจ เราต้องการให้ลูกเข้าใจได้ง่ายๆ และช่วยให้เราทําต่อเนื่องเป็นกิจวัตรได้ ต่อไปนี้คือองค์ประกอบสามประการในการนมัสการ รวมทั้งเหตุผลที่ต้องมีทั้งสามข้อนี้ ทั้งสามจะเรียงลําดับกันอย่างไรก็ได้ จะสลับที่กันบ้างก็ดี 

1) อธิษฐาน 

ในการรวมตัวกันแบบครอบครัว เราจําเป็นต้องมีการอธิษฐานขอบพระคุณ ทูลขอ วิงวอน และสารภาพบาป โดยอาจขอให้สมาชิกในครอบครัวเสนอหัวข้อ แล้วสลับกันอธิษฐาน แต่เราควรระวังไม่อธิษฐานยาวหรือใช้คํามากเกินไป (มธ.6:7-8) การเริ่มต้นด้วยการอธิษฐานขอพระเจ้าช่วยเราให้เข้าใจพระคำและในการนมัสการพระองค์เป็นสิ่งที่ควรทํา และน่าจะดีถ้ามีการอธิษฐานในตอนท้ายสําหรับหลักธรรมคําสอนที่เพิ่งอ่านและสนทนากันไป ตัวอย่างเช่น ถ้าครอบครัวเพิ่งอ่านสดุดี 23 เราก็อาจจะขอบคุณพระเจ้าที่พระองค์เป็นผู้เลี้ยงแกะที่นําเรา จัดเตรียมเพื่อเรา และไม่ให้เราหวั่นกลัวความชั่วร้ายเพราะพระองค์อยู่ด้วยกับเรา 

2) อ่านพระคัมภีร์ 

ถ้าลูกของคุณเป็นเด็กโต คุณอาจจะอ่านพระคัมภีร์หนึ่งบท แต่ถ้าลูกยังเล็ก และอยู่นิ่งไม่ได้นานก็ให้อ่านแค่หนึ่งย่อหน้าเพื่อประโยชน์ของลูกและของคุณเองด้วย (อาจใช้พระคัมภีร์สำหรับเด็กก็ได้) ให้อ่านออกเสียง จงเข้าหาพระคำของพระเจ้าด้วยความตื่นเต้นที่จะได้ยินจากพระองค์และอ่านด้วยความรู้สึกเช่นที่ว่านี้ คุณและคู่สมรสอาจผลัดกันอ่านเนื้อหาของพระคัมภีร์ ลูกๆ อาจช่วยด้วยก็ได้ถ้าเขาโตพอที่จะอ่านได้ 

ผมขอหนุนใจอย่างหนักแน่นว่าให้คุณอ่านพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่มด้วยเหตุผลหลายข้อด้วยกัน เหตุผลแรกคือเป็นการช่วยให้คุณไม่ต้องใช้เวลามากมายในการเตรียมตัว คุณรู้ว่าจะอ่านอะไรในคืนต่อไปโดยไม่ต้องเสาะหา เพียงแค่เปิดพระคัมภีร์แล้วอ่านต่อจากวันก่อน ผมเริ่มต้นที่มาระโก จากนั้นก็ไปที่โยนาห์ ถัดมาเป็นยากอบ ผมคิดว่าน่าจะดีถ้าใช้ทั้งพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่สลับกันไปมา 

เหตุผลข้อสองที่การอ่านพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่มดีสําหรับเราก็เพราะเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ทั้งเล่ม เราก็จะไม่ข้ามผ่านหัวข้อที่ดีแต่เข้าใจยากไป และยังช่วยเราไม่ให้พูดคุยเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก เราถูกเรียกให้รู้จัก รัก และประกาศ “พระดําริทั้งสิ้นของพระเจ้า” (กจ.20:27) 

เหตุผลข้อที่สาม การอ่านพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่มจะช่วยให้เราเข้าใจบริบทของตอนที่เรากําลังอ่านได้ดียิ่งขึ้น เช่น คุณเริ่มต้นที่ย่อหน้าหนึ่งในคืนก่อนหน้านี้ โดยประโยคแรกที่คุณอ่านคือ “จากนั้นเขาไปยัง…” ลูกของเราจะต้องรู้ว่า “เขา” ในที่นี้คือใคร การทบทวนสั้นๆ ในสิ่งที่ได้อ่านหรือพูดคุยกันไปในคืนก่อนจะช่วยได้มาก บริบทจะเป็นกุญแจช่วยให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ และถ้าคุณเป็นศิษยาภิบาลที่กําลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ ผมขอหนุนใจให้คุณเทศนาพระคัมภีร์จบเป็นเล่มเช่นกันด้วยเหตุผลสามประการที่ว่ามานี้ 

ขอให้คุณอ่านจากพระคัมภีร์โดยตรง ถ้าคุณมีหนังสือเด็กที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าด้วยก็ดี แต่ขอให้เก็บไว้อ่านตอนก่อนนอน ไม่มีอะไรเทียบเท่าพระคําของพระเจ้าได้ และถ้อยคําของพระองค์จะส่งผลในจิตใจของเราเองด้วยเช่นกัน สิ่งที่น่าตื่นเต้นในการอ่านพระคําของพระเจ้าด้วยกันก็คือ คุณจะไม่มีทางรู้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะใช้เรื่องนั้นในชีวิตของเราและของลูกอย่างไร เรารู้ว่าพระคําจะบรรลุตามจุดประสงค์ของพระเจ้าและจะไม่สูญเปล่า (อสย.55:11) เราต้องการ ปลูกพระวจนะในจิตใจของลูกและของเราเอง 

บางครั้งลูกของเราอาจได้ยินอะไรที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เรากําลังพูด (หรือ สิ่งที่พระคัมภีร์กําลังพูด) เวลาที่อ่านพระคัมภีร์ด้วยกันในครอบครัวจึงน่าจะดีถ้าเราหยุดพักแล้วถามพวกเขาว่าได้ยินอะไรไปบ้าง ให้ถามคําถามแบบเปิด (ไม่ใช่ คําถามที่ตอบเพียงแค่ว่าใช่หรือไม่ใช่) เพื่อจะดูว่าพวกเขาเข้าใจอย่างไร การได้ยินว่าความคิดและจิตใจของลูกกําลังซึมซับอะไรเข้าไปนับว่าเป็นพระพร 

3) ร้องเพลงสรรเสริญ 

ส่วนนี้อาจทำให้รู้สึกยากหรืออึดอัดในบางครอบครัว แต่ขออย่าให้เสียโอกาสนี้ไป คุณอาจคิดว่าเสียงของคุณไม่ดี หรือบางคนไม่อยากให้ใครได้ยินเสียงของตัวเอง ขอให้สังเกตว่าพระคัมภีร์พูดว่าให้ “ทำเสียงชื่นบาน” (สดด.95:1-2) ไม่ได้บอกว่าเสียงของเราจะต้องไพเราะ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด อย่าให้ความอึดอัดหรือความลําบากใจเมื่อเริ่มทํามาขโมยการนมัสการที่ชื่นบานผ่านเสียงเพลงไปจากคุณ 

การให้คนในครอบครัวเล่นดนตรีก็อาจช่วยได้ ถ้ามีคนเล่นได้ก็ให้เขาเล่น ถ้าไม่มีใครที่เล่นได้ก็ให้ลองอธิษฐานว่าคุณเองจะเรียนการเล่นเครื่องดนตรี การเรียนกีตาร์เพื่อเล่นเพลงนมัสการ ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือเวลามากเท่าที่คุณคิด และอาจเป็นพระพรในช่วงเวลาที่คุณนมัสการร่วมกันไปอีกหลายปี คุณอาจเอาเพลงแห่งชีวิตคริสเตียนหรือเพลงไทยนมัสการดีๆ มา ซึ่งก็น่าจะดีสําหรับคุณและครอบครัว หรือถ้าต้องการก็อาจทําหนังสือเพลงที่มีเพลงสั้นที่คุณชื่นชอบขึ้นมาเอง ผมเคยได้ยินว่าบางครอบครัวชื่นชมยินดีในการร้องเพลงผ่านยูทูบ หรือการร้องแบบอะคัพเพลล่าที่ไม่ต้องมีดนตรีซึ่งก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งได้ 

ผมขอแนะนําให้คุณเริ่มต้นด้วยเพลงที่ลูกของคุณชอบสักหนึ่งหรือสองเพลง ถ้าไม่มีก็ให้คุณแนะนําเพลงที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ผมเริ่มต้นด้วยเพลงพระคุณพระเจ้าและขอพระพรจากเบื้องบนกับลูกๆ ผมร้องเพลงเหล่านี้ให้พวกเขาฟังก่อนนอนไม่รู้กี่ครั้ง และร้องด้วยกันเวลานมัสการในครอบครัวบ่อยเพียงใด 

เรารู้กันดีว่าครอบครัวที่อธิษฐานอ่านพระคัมภีร์ และร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าร่วมกันจะใกล้ชิดพระเจ้ามากกว่าครอบครัวที่ไม่ได้ทำ นักเขียน เอ ดับบลิว พิงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ผลประโยชน์และพระพรของการนมัสการในครอบครัวมีมากเกินกว่าที่จะนับได้ ข้อแรก การนมัสการในครอบครัวจะป้องกันบาปได้มากมายเพราะทำให้คนที่ร่วมมีจิตวิญญาณที่ยำเกรงพระเจ้า ทําให้ได้สัมผัสพระบารมีและสิทธิอํานาจของพระเจ้า นําความคิดให้จดจ่ออยู่ที่หลักธรรมคําสอนที่น่ายําเกรง และนําเอาคุณประโยชน์จากพระเจ้าลงมาสู่ครอบครัว” 

สเปอร์เจียน ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าชายแห่งนักเทศน์ก็ยังเห็นด้วยกับองค์ประกอบของการนมัสการทั้งสามข้อนี้ เขาเคยพูดไว้ว่า “ผู้ที่อธิษฐานในครอบครัว ก็ทําดี ผู้ที่อธิษฐานและอ่านพระคัมภีร์ก็ทําดีกว่า แต่ผู้ที่อธิษฐาน อ่าน และร้องเพลงย่อมทําดีที่สุด”

เริ่มอาทิตย์นี้เลย 

ผมขอท้าทายคุณให้เริ่มต้นการนมัสการในบ้าน คุณไม่ต้องรู้สึกว่าคุณต้องเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณถึงระดับไหนจึงจะทำได้ หรือว่าลูกๆ ของคุณต้องอยู่ในช่วงอายุหนึ่งหรือว่าคุณต้องพร้อมเสียก่อน เวลาเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือสัปดาห์นี้ หรือแม้แต่คืนนี้เลย คุณไม่ต้องเตรียมอะไรมากมาย ประโยชน์และความชื่นชมยินดีในพระคุณที่มีภายในบ้านของเราเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้เลย

บทความนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือ “การเลี้ยงลูก”