วิธีการฟังคำเทศนาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไมสิ่งที่แต่ละคนได้รับจากการคำเทศนานั้นจึง “ไม่เท่ากัน” ทั้งๆ ที่ฟังคนๆ เดียวกัน คำเทศนาเดียวกัน และในเวลาเดียวกัน? 

ทำไมบางคนได้รับพระพรอย่างล้นเหลือจากคำเทศนา แต่หลายคนก็รู้สึกว่าได้นิดเดียว ในขณะที่ผู้คนมากมายนั้นรู้สึกว่าไม่ได้อะไรเลย?

แน่นอนว่าการทำงานของพระเจ้าในจิตใจของแต่ละคนและองค์ประกอบอื่นๆ มีผลด้วย แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ แต่ละคนนั้นมีวิธีในการฟังคำเทศนาที่ไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้นวิธีการฟังคำเทศนานั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากแต่ว่าน่าเสียดายที่มีน้อยคนนักที่จะให้ความสนใจกับวิธีการฟังคำเทศนา คือดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ผู้คนเข้าใจกันเอาเองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้กันดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีใครมาสอนหรือแนะนำ แต่ว่าพระเยซูคริสต์ทรงตรัสไว้ในลูกา 8:18 ว่า “…จงเอาใจจดจ่อต่อสิ่งที่พวกท่านได้ยินได้ฟัง…”

ในบทความสั้นๆ นี้ ผมอยากจะแบ่งปันวิธีการฟังคำเทศนที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ผมได้จำแนกออกเป็น 3 ส่วนคือ ก่อนฟัง ตอนฟัง และหลังฟัง ซึ่งแต่ละส่วนนั้นจะประกอบไปด้วย 5 อย่างด้วยกัน

ก่อนฟังคำเทศนา

อ่านข้อพระคัมภีร์ที่เราจะฟังคำเทศนามาจากที่บ้าน การอ่านพระคัมภีร์ล่วงหน้าเป็นการเตรียมตัวเราเพื่อที่จะไปฟังและศึกษาพระคำของพระเจ้า ถ้าเราอ่านมาล่วงหน้า เราก็จะตามนักเทศน์ได้ดีกว่าเพราะเป็นพระคำที่เราเพิ่งอ่านมา 

อธิษฐานเผื่อตัวเอง อธิษฐานเผื่อที่พระเจ้าจะทรงเปิดตาและเปิดใจของเราให้ได้เห็นและได้ยินสิ่งอัศจรรย์จากพระคำของพระเจ้า เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและจิตใจของเราให้รักและรู้จักพระองค์มากขึ้น!

เตรียมตัวให้พร้อมคืนก่อนที่จะไปฟังคำเทศนา อาจจะฟังดูแปลกแต่ว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การไม่ได้นอนหรือนอนน้อยคืนก่อนไปโบสถ์ก็มีผลกระทบต่อการฟังของเราเป็นอย่างมากเพราะถึงแม้ว่าจิตใจของเราพร้อม แต่ว่าร่างกายของเรานั้นอ่อนแอมาก

อธิษฐานเผื่อนักเทศน์ ประสิทธิภาพของการเทศนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเทศน์ แต่ขึ้นอยู่กับการทรงใช้ของพระเจ้าด้วย ด้วยเหตุนี้ การอธิษฐานขอให้พระเจ้าทรงเจิมและใช้นักเทศน์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก 

อย่าไปสาย! การไปสายทำให้ไม่รู้ว่านักเทศน์พูดเกี่ยวกับอะไร พระคำข้อไหน และทำให้เราจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการรบกวนผู้อื่นอย่างไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นตัวนักเทศน์ และพี่น้องคริสเตียนคนอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น จะทำให้เราพลาดหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงนมัสการ การอธิษฐาน และการอ่านพระวจนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเตรียมพร้อมในการฟังพระคำของพระองค์

ตอนฟังคำเทศนา

ฟังอย่างตั้งใจ คือการตั้งใจฟังอย่างใจจดใจจ่อในสิ่งที่นักเทศน์กำลังสอนอยู่ เข้าใจว่าเราต่างก็มีความรับผิดชอบและสิ่งที่เราต้องคิดและกังวล แต่ว่าช่วงเวลาที่เราฟังคำเทศนาอยู่นั้น เราควรพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเพ่งความสนใจของเราไปที่การฟังพระคำของพระเจ้า

ดูข้อพระคำที่กำลังเทศนา การไม่ดูพระคำที่สอนอยู่ทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา เช่น ไม่รู้ว่านักเทศน์สอนสิ่งที่ตรงตามหลักพระคัมภีร์หรือไม่  ยิ่งไปกว่านั้น การดูพระคำที่นักเทศน์สอนอยู่ ยังเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราจดจ่อและตั้งใจฟังได้ดีขึ้น ไม่เพียงฟังพระคำที่นักเทศน์สอนอยู่ แต่การเปิดดูพระคำด้วยตาของเราเอง

จดบันทึก ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับทุกคน แต่ก็ช่วยให้หลายๆ คนตั้งใจฟังและจดจ่อสิ่งที่นักเทศน์สอนอยู่ได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากความจำของเรานั้นมีขีดจำกัด การจดบันทึกจึงเป็นวิธีหนึ่งที่เราจะช่วยให้เราจำสิ่งที่สอนได้ดี และเป็นเรื่องง่ายที่จะนำมาทบทวนในภายหลัง

ฟังคำเทศนาที่โบสถ์ การฟังคำเทศนาที่ดีที่สุดก็คือ การฟังในคริสตจักรของพระเจ้าร่วมกับพี่น้องผู้เชื่อด้วยกัน แม้ว่าในปัจจุบันนี้เราสามารถหาฟังคำเทศนาได้ตามอินเตอร์เน็ต ไม่มีอะไรที่จะสามารถแทนที่การไปนั่งฟังที่คริสตจักรกับพี่น้องคนอื่นๆ ถึงแม้ว่ามันไม่ผิดอะไรที่จะฟังคำเทศนาทางอินเตอร์เน็ต แต่ว่าอย่าได้นำมาทดแทนการไปโบสถ์ในวันอาทิตย์

ปิดหรือปิดเสียงเครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือสื่อสารทำให้เราเสียสมาธิมากที่สุดอย่างหนึ่ง เว้นแต่ว่าจะเป็นเรื่องฉุกเฉินและสำคัญมาก การรอใช้เครื่องมือสื่อสารจนกว่าจะจบคำเทศนาก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนตัวเราเองและผู้อื่น แต่ถ้าเรารอสายที่สำคัญอยู่ เราอาจจะนั่งใกล้ประตูทางออกให้ใกล้ที่สุด เพื่อที่เราจะได้ออกไปข้างนอกโดยรบกวนผู้อื่นให้น้อยที่สุด

หลังฟังคำเทศนา

ทบทวนและพูดคุยเกี่ยวกับคำเทศนาที่ได้ฟังมา น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพูดถึงหรือทบทวนคำเทศนาที่ได้ฟังมาหลังจากเลิกโบสถ์ อาจจะเป็นทบทวนคร่าวๆ ในวันนั้นหรือวันถัดเพื่อที่เราจะไม่ลืมสิ่งที่เราได้ฟังมา การพูดคุย/แบ่งปันสิ่งที่เราฟังมาก็เป็นประโยชน์มา อาจมีบางอย่างที่เราไม่เข้าใจหรือฟังไม่ทัน การพูดคุยกันจะช่วยให้เราจำและเข้าใจสิ่งที่เราฟังมาได้ดียิ่งขึ้น

ตรวจสอบสิ่งที่เราได้ฟังมา นักเทศน์เป็นมนุษย์ที่ผิดพลาดกันได้ บ้างก็ผิดพลาดเยอะเพราะอาจจะไม่รู้หรือไม่สนใจพระคำ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฟังที่จะต้องกลับมาตรวจสอบสิ่งที่เราได้ฟังมา เหมือนดั่งที่พี่น้องในเบโรอาได้ทำกัน (กิจการ 17:12) ขอให้สิ่งที่พี่น้องในเมืองนี้ได้ทำกันเป็นแบบอย่างให้กับเราทุกคน

นำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต การได้ยินได้ฟังแท้จริงนั้นไม่ใช่แค่การรับรู้ความจริง แต่คือการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา ท่านยากอบเตือนเราไว้ว่า “แต่จงเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น มิฉะนั้นจะเป็นการหลอกตัวเอง” (ยากอบ 1:22)  สิ่งสุดท้ายที่จะทำให้การฟังพระคำเสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบมากที่สุดก็คือการนำไปทำตาม

ขอบคุณ/อธิษฐานต่อพระเจ้าสำหรับความจริงที่เราได้รับ เป็นเรื่องสมควรที่เราจะต้องขอบคุณและสรรเสริญพระเจ้าสำหรับพระคำที่มีชีวิตของพระองค์ บางทีอาจจะเป็นความจริงที่เปลี่ยนความคิดและชีวิตของเราเลยก็เป็นได้ แม้จะมาถึงเราผ่านทางผู้รับใช้ แต่ว่าคนที่ให้ความจริงเราคือพระเจ้า ในขณะเดียวกันก็อธิษฐานขอให้พระเจ้าช่วยให้เราไม่ลืมสิ่งที่เราได้ฟังมา

หนุนใจนักเทศน์ ขอบคุณนักเทศน์ที่ยอมเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการสอนพระคำให้กับเรา นักเทศน์ส่วนใหญ่จะตรากตรำระหว่างอาทิตย์เพื่อเตรียมคำเทศนา อาจจะรวมไปถึงการบอกให้นักเทศน์รู้ว่าความจริงใดในคำเทศนาที่หนุนใจ/ท้าทายเราเป็นพิเศษ สิ่งเล็กๆ เหล่านี้อาจหนุนใจนักเทศน์ได้เป็นอย่างดี

ขอพระเจ้าทรงช่วยให้เราทุกคนฟังคำเทศนาในแต่ละอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ